วิธีการเลี้ยงปลาสวยงาม
การเลี้ยงปลาสวยงาม
ชนิดของปลาสวยงาม สามารถจำแนกออกได้อย่างมากมาย แต่ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย เช่น ปลาทอง ปลากัด ปลาหางยกยูง ปลาคาร์พ ปลาหมอสี ปลามังกร เป็นต้น
การจัดการตู้ปลา
- การเลือกตู้ปลาสวยงาม โดยทั่วไปที่ใช้ ก็คือ ขนาดปลา 1 นิ้วต่อน้ำ 5 แกลลอน แต่ถ้าขนาดตู้ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ที่สำคัญสถานที่ตั้งของตู้ปลา ไม่ควรใกล้ประตูหรือหน้าต่าง เพราะอาจจะโดนแสงแดด ซึ่งอาจทำให้เกิดตะไคร้ได้ง่าย
- เครื่องกรองน้ำ ซึ่งมีประโยชน์ต่อปลามาก นอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพน้ำ แล้วยังช่วยกรองเศษอาหารและของเสียที่ปลาถ่ายออกมาอีกด้วย ควรมีพื้นที่ 1/3 – 1/4 ของพื้นที่ตู้เลี้ยงทั้งหมด สำหรับวัสดุกรองที่นิยมใช้ เช่น หินกรอง, ใยแก้ว, ฟองน้ำ เป็นต้น
- การให้ออกซิเจน เป็นสิ่งที่จำเป็นสูงสุดต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมทั้ง ปลา ซึ่งปริมาณที่ให้ขึ้นอยู่กับชนิดปลาสวยงามที่เลี้ยง จำนวนของปลา
การจัดการคุณภาพน้ำ
- น้ำต้องไม่มีคลอรีน โดยควรพักน้ำให้คลอรีนระเหยจนหมด หรืออาจใช้สารโซเดียมไธโอซัลเฟตหรือสารจับคลอรีนเพื่อเร่งให้คลอรีนหมดเร็วขึ้น โดยคลอรีนเป็นพิษสำหรับปลาและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่อาศัยในระบบกรอง
- ควรเปิดเครื่องกรองน้ำให้ทำงานก่อนปล่อยปลาลงตู้ เพื่อปรับสมดุลแก่จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบ
- ควรล้างเครื่องกรองน้ำด้วยน้ำเลี้ยงปลาเดิม เพื่อรักษาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบไว้
- ควรมีการตรวจคุณภาพน้ำอยู่เป็นประจำ เช่น แอมโมเนีย ไนไตรท์ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้างหรือสารพิษในน้ำ ซึ่งเบื้องต้นอาจสังเกตุจากสีและกลิ่นของน้ำที่เปลี่ยนไป
อาหารและสารอาหารที่เหมาะสม
- อาหาร
ชนิดอาหารสำหรับปลาสวยงามมีหลายชนิด โดยรูปแบบอาหารที่มี ได้แก่ ชนิดแผ่น ชนิดเม็ดแบบลอย ชนิดเม็ดแบบจม อาหารสดแช่แข็งหรืออาหารสดมีชีวิต ซึ่งมีสารอาหารแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการให้อาหารจึงคำนึงถึงชนิดปลา ช่วงวัย และขนาดปากของปลาร่วมด้วย ปัจจุบันผู้เลี้ยงสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปได้ง่าย สะดวก และมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน
- สารอาหารที่เหมาะสม
ปลาที่ได้รับอาหารที่ดีและมีคุณค่าครบถ้วน จะทำให้ปลามีสุขภาพที่ดี โครงสร้างและสีสันสวยงาม มีการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งมีปลาจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาขาดสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวที่ตามมา เช่น โครงสร้างผิดรูป การเจริญเติบโตช้า สีไม่สวย ภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดการเจ็บป่วยเรื่อยรัง ซึ่งสารอาหารที่สำคัญ มีดังนี้
โปรตีน : เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ไขมัน : เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน และสารตั้งต้นของฮอร์โมน รวมทั้งเป็นตัวนำวิตามินที่ละลายในไขมัน
คาร์บอไฮเดรต : แหล่งพลังงานที่สำคัญ เป็นโครงสร้างของร่างกาย เยื่อหุ้มเซลล์ เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ
วิตามิน : ต้องการในปริมาณที่น้อย แต่ขาดไม่ได้ เพื่อให้กระบวนการเมแทบอลิซึมทำงานเป็นไปอย่างปกติ
แร่ธาตุ : ต้องการในปริมาณที่น้อย แต่ขาดไม่ได้ เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นไปอย่างปกติ
วิธีการให้อาหาร
- ปริมาณอาหาร
การให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม : คือการให้อาหารที่ไม่มากเกินไปจนเหลือ โดยเริ่มสังเกตจากปลาที่กินไม่หมด และตักอาหารที่เหลือออกหลังจากให้อาหาร 15-20 นาที เพื่อป้องกัน ปริมาณอาหารที่เหลือ อาจแสดงถึง การให้อาหารที่มากเกินความจำเป็น สภาวะแวดล้อมเปลี่ยน หรือ ปลามีอาการป่วย
- การให้อาหารปลา
- หลักการให้อาหารควรให้อาหารในปริมาณที่น้อยแต่บ่อยครั้ง อาจแบ่งเป็น 2-3 ครั้ง/วัน
- การเปลี่ยนอาหาร : ควรเปลี่ยนชนิดอาหารใหม่ โดยค่อยๆปรับลดปริมาณอาหารเก่าลง
Tip : การให้อาหารลูกปลา
ลูกปลาที่เกิดใหม่อาจไม่สามารถกินอาหารเม็ดสำเร็จรูปได้ทันที จึงจำเป็นต้องให้อาหารที่มีขนาดเล็ก เช่น อาหารเม็ดสำเร็จรูปบดละเอียด ไข่ตุ๋น หรืออาหารมีชีวิตขนาดเล็ก เมื่อปลาโตขึ้นจึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นอาหารสำเร็จรูปเม็ดเล็ก
Tip : การเลือกปลาและการปล่อยปลาลงตู้
ควรเลือกปลาที่ตื่นตัว ว่ายน้ำเป็นปกติ ตาใส ท้องเต็มแต่ไม่บวม ครีบสวยสมบูรณ์ หายใจสม่ำเสมอ แล้วก็มีสีสันสดใส อย่าเพิ่งปล่อยปลาลงตู้ ควรเอาปลาที่อยู่ในถุงลอยน้ำในตู้ก่อน เพื่อปรับอุณหภูมิให้ใกล้เคียงกัน ประมาณ 20 – 30 นาที แล้วค่อยๆเติมน้ำลงในถุง เพื่อปรับสมดุล แล้วจึงค่อยๆปล่อยปลาลงตู้
Tip : การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
เมื่อสังเกตุว่าคุณภาพของน้ำในตู้เริ่มเปลี่ยน ต้องรีบเปลี่ยนน้ำ แต่ต้องระวังอย่าเปลี่ยนน้อยหรือมากจนเกินไป ซึ่งที่แนะนำประมาณ 30 – 50% ของปริมาณน้ำทั้งหมด เพื่อป้องกันปลาเกิดอาการช็อกน้ำ
ความเห็นล่าสุด